เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 8. กาสาววรรค 3. ปุฏภัตตชาดก (223)
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

1. โสมทัตตชาดก 2. อุจฉิฏฐภัตตชาดก
3. ภรุราชชาดก 4. ปุณณนทีชาดก
5. กัจฉปชาดก 6. มัจฉชาดก
7. เสคคุชาดก 8. กูฏวาณิชชาดก
9. ครหิตชาดก 10. ธัมมัทธชชาดก

8. กาสาววรรค
หมวดว่าด้วยผ้ากาสาวพัสตร์
1. กาสาวชาดก (221)
ว่าด้วยผ้ากาสาวพัสตร์
(พญาช้างโพธิสัตว์ได้ติเตียนมนุษย์เข็ญใจที่นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ว่า)
[141] ผู้ใดมีกิเลสดุจน้ำฝาด1ยังไม่หมดไป
ปราศจากทมะและสัจจะ จักนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ผู้นั้นไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์เลย
[142] ส่วนผู้ใดคลายกิเลสดุจน้ำฝาดได้แล้ว
ตั้งมั่นด้วยดีในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยทมะและสัจจะ
ผู้นั้นแลสมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
กาสาวชาดกที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 กิเลสดุจน้ำฝาด ได้แก่ ราคะ (ความกำหนัด) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) โมหะ (ความหลง)
มักขะ (ความลบหลู่บุญคุณท่าน) ปลาสะ (การตีเสมอ) อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ความตะหนี่)
มายา (ความเป็นคนเจ้าเล่ห์) สาเถยยะ (ความโอ้อวด) ถัมภะ (หัวดื้อ) สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ความ
ถือตัว) อติมานะ (ความดูหมิ่น) มทะ (ความมัวเมา) ปมาทะ (ความประมาท) อกุศลทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง
กรรมที่นำไปเกิดในภพทั้งปวง กิเลสพันห้า นี้เรียกว่า กิเลสดุจน้ำฝาด (น้ำย้อม) (ขุ.ชา.อ. 3/141/199)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :102 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 8. กาสาววรรค 3. ปุฏภัตตชาดก (223)
2. จูฬนันทิยชาดก (222)
ว่าด้วยพญาวานรจูฬนันทิยะ
(บุรุษชั่วถูกแผ่นดินสูบระลึกถึงโอวาทของอาจารย์ได้ จึงกล่าวรำพันว่า)
[143] ท่านอาจารย์ปาราสริยะได้กล่าวคำใดไว้ว่า
ท่านอย่าได้ทำความชั่วที่ทำแล้วจะทำตนให้เดือดร้อนในภายหลัง
คำนี้เป็นคำของอาจารย์
[144] คนทำกรรมใดไว้ย่อมเห็นกรรมนั้นในตน
คนทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี
คนทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว
คนหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น
จูฬนันทิยชาดกที่ 2 จบ

3. ปุฏภัตตชาดก (223)
ว่าด้วยห่อข้าวเปล่า
(อำมาตย์โพธิสัตว์ผู้อนุศาสน์อรรถธรรมแก่พระราชาได้กราบทูลพระเทวีว่า)
[145] บุคคลควรนอบน้อมแก่ผู้ที่นอบน้อม
ควรคบผู้ที่คบด้วย ควรทำกิจแก่ผู้ที่ช่วยทำกิจ
ไม่ควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่
ผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
และไม่ควรคบแม้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะคบด้วย
[146] ควรละทิ้งผู้ที่ละทิ้ง และไม่ควรทำความเยื่อใย
ไม่ควรคบกับผู้มีจิตใจเหินห่าง
ควรมองหาผู้อื่น(ที่มีความเยื่อใย)
เหมือนนกรู้ว่า ต้นไม้นี้หมดผลแล้วไปยังต้นไม้อื่น
เพราะว่าโลกกว้างใหญ่
ปุฏภัตตชาดกที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :103 }